วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

 

1.1 พัฒนาการ (Development)
คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงตามวัยของมนุษย์ ที่เป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม ในลักษณะบันไดวนไม่สิ้นสุด ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนตาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มีความสัมพันธ์กันทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาต่าง ๆ โดยทั่วไป
การกล่าวถึง พัฒนาการมนุษย์นั้น จะเน้นที่การศึกษาถึง การเจริญเติบโตของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และศักยภาพต่าง ๆ ของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก การผสมผสาน ระหว่างการเจริญเติบโตไปสู่การมี วุฒิภาวะ และ การเรียนรู้
1.2 วุฒิภาวะ (Maturation)
วุฒิภาวะ คือ กระบวนการของการเจริญเติบโต หรือการเปลี่ยนแปลงในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นโดย ธรรมชาติ อย่างมีระบบระเบียบ โดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเร้าภายนอก ตัวอย่างเช่นความพร้อมของกล้ามเนื้อ การทำงานของต่อมต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดพฤติกรรม ขึ้นเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ๆ
พัฒนาการชีวิตมนุษย์ส่วนหนึ่งขึ้นกับ วุฒิภาวะ พฤติกรรมพื้นฐานของชีวิต เช่น การนั่ง เดิน คลาน การเปล่งเสียงอ้อแอ้ เป็นวุฒิภาวะทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นพฤติกรรมที่สลับซับซ้อนมักจะต้องใช้การเรียนรู้ หรือการฝึกฝนร่วมด้วย เช่น การพูดด้วยภาษาที่สละสลวย หรือการฝึกขี่จักรยาน การฝึกขับรถ เป็นต้น
ตัวอย่างการศึกษาวุฒิภาวะ ที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่ง คือการศึกษาเด็กชนเผ่า โฮปิ (Hopi) โดย Dennis (1940) ซึ่งเด็กชนเผ่านี้ ถูกเลี้ยง โดยการผูกติดกับไม้กระดานทั้งวัน ตั้งแต่อายุประมาณ 7 เดือน โดยไม่ได้มีการฝึกนั่ง คลาน หรือเดินเลย แต่หลังจากนั้นอีก 6 เดือน เมื่อปล่อยเด็กจากไม้กระดาน และได้รับการฝึกให้ นั่ง คลาน หรือ เดิน ทั้งนี้มีข้อเปรียบเทียบ พบว่า เด็กเผ่านี้เดินได้หลังจากเด็กยุโรป ประมาณ 1 เดือน ในขณะที่เด็กอัฟริกันเดินได้ก่อนเด็กยุโรป ประมาณ 1 เดือน
Dennis สรุปว่าการที่เด็กโฮปิ เดินได้โดยไม่ต้องฝึกฝน และเด็กชนชาติอื่น ๆ เดินได้ในเวลาใกล้เคียงกัน เป็นผลมาจาก วุฒิภาวะ ของเด็กนั่นเอง
1.3 การเรียนรู้ (Learning)
การเรียนรู้ คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่มีผลมาจากประสบการณ์ หรือการฝึกหัด การเรียนรู้เป็นสิ่งจำเป็นในการปรับตัว เพื่อความอยู่รอด ของมนุษย์ พัฒนาการของมนุษย์ต้องอาศัย การเรียนรู้มาก และพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ เป็นผลมาจาก การเรียนรู้มากกว่าวุฒิภาวะ
อย่างไรก็ตามทั้ง วุฒิภาวะ และ การเรียนรู้ ต่างก็มีความจำเป็นต่อพัฒนาการทั้งสิ้น การเรียนรู้ต่างๆ จะดำเนินไปไม่ได้ หรือไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร ถ้ายังไม่ถึงวุฒิภาวะ แต่ถ้าถึงวุฒิภาวะของเด็กแล้วจะทำให้การเรียนรู้นั้นๆ จะได้ผลยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นการเรียนภาษา พบว่าการที่ให้เด็กเรียน ภาษาที่สอง ตั้งแต่การใช้ภาษาแรกของเด็ก ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจดีพอนั้น ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร แต่หากถึงวุฒิภาวะแล้ว ไม่มีการฝึกหัด หรือได้เรียนรู้ในสิ่งนั้น ๆ แล้วค่อยไปฝึกหัดในภายหลัง ก็อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เช่นการฝึกว่ายน้ำ ถีบจักรยาน หรือฝึกใช้ กล้ามเนื้อ ตอนโตมากแล้ว อาจไม่ได้ผลดีเท่าตอนเป็นเด็ก การเรียนรู้ใด ๆ จะได้ผลดียิ่งขึ้น จึงต้องให้เด็กมีวุฒิภาวะ หรือความพร้อม เสียก่อน จะทำให้การเรียนรู้นั้น ๆ ได้ผลดียิ่งขึ้น
1.4 กฎเกณฑ์ของพัฒนาการมนุษย
พัฒนาการมนุษย์ โดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายคลึงกันซึ่งเป็นไปตามแบบแผนและกฎเกณฑ์พอที่จะสรุปได้ดังนี้
  1. พัฒนาการเกิดขึ้นอย่างมีทิศทาง (Development is Directional) พัฒนาการเกิดขึ้น อย่างมี ระเบียบแบบแผน มีทิศทางจาก ไม่ซับซ้อนไปสู่ ที่ซับซ้อนกว่า จากทารกพัฒนาไปสู่วัยเด็ก วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ในที่สุด พัฒนาจากศีรษะ ไปปลายเท้า และจาก แกนกลางของลำตัวไปสู่ส่วนย่อยดังจะเห็นว่าเด็กจะสามารถชันคอได้ก่อน และสามารถเคลื่อนไหวลำตัวก่อนมือและนิ้ว
  2. การใช้ส่วนย่อยและการรวมกันของส่วนย่อยเป็นกิจกรรมใหม่ขึ้นมา (Development is Cummulative) ในการพัฒนาการของมนุษย์จะพัฒนาจากขั้นแรกก่อนแล้วรวมเป็นกิจกรรมขั้นต่อไป เช่น คืบก่อนคลาน นั่งก่อนยืน และยืนก่อนเดิน เป็นต้น
  3. พัฒนาการเป็นสิ่งต่อเนื่องกัน (Development is Continuous) หมายถึงพัฒนาการเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดเวลาค่อย ๆ เปลี่ยน ตัวอย่างเช่น การพูดพัฒนามาจากการเปล่งเสียงอ้อแอ้ การงอกของฟัน งอกมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์แต่ปรากฏชัดเจนตอนอายุประมาณ 6 เดือน การใช้ชีวิตในวัยหนุ่มสาวส่งผลต่อสุขภาพในวัยชรา เป็นต้น
  4. พัฒนาการของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนโตเร็ว บางคนโตช้า บางคนพูดเร็ว บางคนอาจเดินได้เร็ว เป็นต้น
  5. พัฒนาการในแต่ละส่วนของร่างกายของเด็กแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน เด็กคนหนึ่งอาจเติบโตเร็วมากในช่วง 2 ขวบแรก จากนั้นจะลดลงและเจริญเติบโตอีกครั้งหนึ่งในช่วงวัยรุ่นแล้วจะเติบโตช้าจน ถึงวัยผู้ใหญ่และวัยชรา
  6. พัฒนาการมีลักษณะเป็นองค์รวม (Development is Holistic) พัฒนาการไม่ได้เป็นไปอย่างแยกส่วน แต่จะพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ทั้งด้าน ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และผลของพัฒนาการก็จะเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของด้านต่าง ๆ ร่วมกัน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น